วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด ทุ่มงบประมาณสร้างโรงงานนมยูเอชที แก้ปัญหานมล้นตลาด คุณภาพต่ำ ช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ไม่ต้องสูญรายได้
    
 สกลนคร: นางสาวกุหลาบ นามแสงโคตร ผู้จัดการสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ  จำกัด จังหวัดสกลนคร กล่าวถึงการสร้างโรงงานนมยูเอชทีว่า เนื่องจากปัญหาในเรื่องของค่าจ้างในการผลิตนม ค่าขนส่งทั้งไป-กลับ ปัญหาเรื่องคุณภาพของนม  และปัญหาเรื่องนมล้นตลาดในช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งผู้ประกอบการรับซื้อน้ำนม ไม่สามารถรองรับน้ำนมเราได้หมด ทำให้นมที่เหลือเน่าเสีย และต้องเททิ้ง  จึงทำให้มีแนวคิดที่จะสร้างโรงผลิตนมยูเอชทีขึ้นมา เพื่อรองรับปัญหาตรงนี้ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งวันที่ 24 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา โดยงบประมาณที่นำมาใช้ในการก่อสร้างจำนวน 46 ล้านบาท ซึ่งได้มาจากการรับฝากเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขสกลนคร จำกัด โดยโรงงานนมยูเอชทีนี้ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรที่เลี้ยงโคนมว่า ช่วงปิดเทอมไม่ต้องหวั่นวิตกว่า นมจะเททิ้ง และโคนมเป็นอาชีพที่เกษตรกรมั่นใจได้ว่า มั่นคงไปตลอดไม่ว่าจะเป็นช่วงปิดภาคเรียน หรือเปิดภาคเรียน  อย่างไรก็ดี สหกรณ์ได้รับการแนะนำจากบริษัทอุตสาหกรรมนมไทย ช่วยแนะนำในการจัดการวางแผนการผลิต และการควบคุมกำลังคน
     นางสาวกุหลาบ  กล่าวว่า ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตของโรงงานนมยูเอชที เฉลี่ยละ 10 ตัน/วัน อาทิตย์ละ 6 วัน ส่วนปริมาณการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร 24 ตัน/วัน  โดยเกษตรกรโดยทั่วไปสหกรณ์จะรับซื้อตามราคากลาง คือ กิโลกรัมละ 17 บาท แต่สมาชิกสหกรณ์จะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 16.60 บาท เพราะมีส่วนต่างในเรื่องของต้นทุน และการปันผลในช่วงสิ้นปีงบประมาณ อย่างไรก็ตาม นมยูเอชที ที่สหกรณ์ผลิตได้ จะนำส่งให้กับโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน เพียงแห่งเดียว เพราะสหกรณ์ผลิตแต่นมชนิดจืดเท่านั้น และส่วนนมพาสเจอร์ไรส์ เราจะส่งเฉพาะโครงการนมโรงเรียน โดยช่วงเปิดเทอมจะส่งเป็นนมพาสเจอร์ไรส์ ช่วงปิดเทอมจะเป็นนมกล่องโดยที่สหกรณ์ผลิตเอง โดยปริมาณนมที่สหกรณ์ผลิตส่งให้กับโครงการนมโรงเรียนจะอยู่ที่  130,000 ถุง/วัน ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง อาทิ จังหวัดอุดรธานี นครพนม มุกดาหาร หนองคาย และกาฬสินธุ์  
     ผู้จัดการสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ  จำกัด กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังการแลกเปลี่ยนสินค้านมกล่อง กับวัตถุดิบ เช่น มันเส้น รำอ่อน กับทางประเทศลาว โดยวิธีการซื้อเงินสด ทางประเทศลาวก็ซื้อสดนมเราไป และทางเรา ก็ซื้อสดวัตถุดิบจากประเทศลาว มาจำหน่ายให้กับสมาชิก เพื่อนำไปทำเป็นอาหารให้กับโคนม แต่ก็ต้องดูภาวะราคาด้วย หากราคาแพงกว่าประเทศไทย เราก็จะไม่ซื้อ เพราะสหกรณ์จะเน้นในเรื่องของการลดต้นทุนให้กับสมาชิก
     “กำลังการผลิตของโรงงานนมยูเอชทีขณะนี้  1.25 ตัน/ชั่วโมง ซึ่งสามารถที่จะพอเลี้ยงตัวเองไปได้  โดยไม่ต้องไปอาศัยคนอื่นหายใจ ที่ผ่านมา ยอมรับว่า เราใช้จมูกคนอื่นหายใจ อย่างเช่น น้ำนมดิบล้นตลาด ต้องไปอ้อนวอนผู้ประกอบการให้รับซื้อในราคาที่ต่ำกว่าทุน แต่หลังจากมีโรงงานนมยูเอชที เราสามารถพึ่งตัวเองได้ ทั้งนี้ หากมีกำลังการผลิตเหลือ ก็จะสามารถช่วยเหลือสหกรณ์อื่นๆ ได้อีกด้วย

     นางสาวกุหลาบ กล่าวว่า ส่วนโครงการในการช่วยเหลือสมาชิก สหกรณ์ได้ปล่อยสินเชื่อซื้อแม่โค เพื่อเป็นการเพิ่มวัตถุดิบให้กับสหกรณ์  สมาชิกก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และขยายฟาร์มสมาชิกขนาดเล็ก ให้เป็นฟาร์มขนาดกลาง และฟาร์มขนาดกลางให้เป็นฟาร์มขนาดใหญ่  ส่วนรายละเอียดของโครงการ สหกรณ์จะปล่อยเงินกู้ให้ กับสมาชิกรายละ 100,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 9 บาท/ปี 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น